พิธีเลี้ยงดง ปู่แสะย่าแสะ เชียงใหม่ ความศรัทธาที่อยู่คู่เมืองล้านนาจนถึงปัจจุบัน

1297
VIEWS
Share on line
Share on facebook
Share on twitter
Share on email
ปู่แสะย่าแสะ

หากพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ พิธีกรรมโบราณที่ถูกพูดถึงต้องมีพิธีเลี้ยงดงอยู่ในนั้น นับเป็นความศรัทธาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นพิธีกรรมโบราณที่ถูกสืบทอดมาอย่างยาวนาน จุดเริ่มต้นจากตำนานยักษ์ปู่แสะย่าแสะของชาวลัวะที่ได้อาศัยอยู่บนแผ่นดินล้านนาซึ่งต่อมาคือจังหวัดเชียงใหม่ โดยถูกผูกความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงผีก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างในยุคปัจจุบัน และยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนเมืองที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ ที่ศรัทธาในธรรมชาติและการรักษาผืนป่า พิธีกรรมเลี้ยงดงนั้นมักจะจัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีนั่นเอง


ปู่แสะย่าแสะ

ต้นกำเนิดของเรื่องราวจนกลายเป็นพิธีกรรมเลี้ยงดง

ตามเรื่องราวเล่าขาน ตำนานเกี่ยวกับปู่แสะย่าแสะนั้นเกิดขึ้นเมื่อสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์บริเวณเชิงดอยคำ ก็ได้พบกับยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ยังใช้เนื้อมนุษย์ที่หลงเข้ามาในการดำรงชีพ ต่อมาเมื่อยักษ์ได้เห็นพระพุทธเจ้าเลยมีความคิดที่จะจับกิน แต่ด้วยอำนาจบารมีธรรมเลยไม่สามารถทำอะไรพระพุทธองค์ได้ หลังจากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาธรรมและขอให้ยักษ์รักษาศีล 5 แต่ยักษ์ที่ได้กินเนื้อมนุษย์มาเป็นเวลานานยากที่จะหักดิบ เลยขอพระพุทธเจ้าว่าให้ยังสามารถกินเนื้อมนุษย์ได้ปีละ 2 คน แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงไม่อนุญาตจึงได้ต่อรองลงมาเรื่อยๆจนเหลือแค่เนื้อสัตว์ พระพุทธองค์จึงให้ยักษ์ไปขอกับเจ้าเมือง ซึ่งเจ้าเมืองก็ได้อนุญาตให้กินควายได้ปีละ 1 ครั้ง

เลี้ยงดง

เลี้ยงดง

 

ในอดีตนั้นกษัตริย์และชาวบ้านจะเป็นคนทำพิธีเลี้ยงดง ด้วยการนำเนื้อควายสดมามาสังเวยปู่แสะย่าแสะ ซึ่งตามความเชื่อโบราณนั้นควายที่จะนำมาสังเวยนั้นต้องเป็นควายเขาดำ หรือควายรุ่นกระทงที่มีเขาสั้นเท่ากับหูซึ่งหลังจากทำพิธีแล้วเนื้อบางส่วนก็จะนำไปทำอาหารและแจกจ่ายกันในชุมชน ซึ่งหมู่บ้านที่จะได้รับการแจกจ่ายนั้นจะอยู่ในอำเภอแม่เหียะ 5 หมู่บ้านนั่นคือหมู่บ้าน ป่าจี้ ตำหนัก ดอนปีน ท่าข้าม บ้านบ่อ เพราะถือว่าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่การดูแลของปู่แสะย่าแสะอีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเชิงดอยสุเทพ แต่ในยุคปัจจุบันนั้นจะไม่ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวบ้านแล้ว แต่เนื้อควายทั้งหมดจะนำไปให้เทศบาลแม่เหียะจัดการ เพราะถือว่าเป็นแม่งานของพิธีกรรมทั้งหมด

ของไหว้

ชาวบ้าน

ปู่แสะ

ปัจจุบันพื้นที่ในการจัดพิธีกรรมเลี้ยงดงจะจัดขึ้นที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 04 (แม่เหียะ) โดยพิธีกรรมจะเริ่มจากการเชิญวิญญาณปู่แสะย่าแสะมาเข้าสู่ร่างทรง รวมถึงนำเครื่องทรงและเครื่องไหว้มาไหว้ยังศาลที่ได้สร้างเอาไว้สำหรับลูกหลานปู่แสะย่าแสะ หลังจากนั้นร่างทรงก็จะเริ่มกินเลือดและเนื้อควายแบบสดๆ นอกจากนี้ยังมีการอัญเชิญผ้าพระบฏ เป็นภาพวาดที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดยได้อัญเชิญมาจากวัดป่าชี มีอายุมากกว่า 100 ปี และจะนำมาใช้ในพิธีนี้เท่านั้น ดังนั้นใน 1 ปี จะเห็นภาพพระบฎนี้เพียงครั้งเดียว จึงถือว่าเป็นบุญของชาวบ้านที่ได้เข้ามาร่วมพิธี พระบฎที่นำมานั้นนับว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ตามเรื่องเล่าในตำนานว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จมาโปรดยักษ์ ในขณะพิธีแขวนผ้าพระบฎกับกิ่งไม้นั้นมักจะมีปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ คือพระบฎนั้นจะมีการแกว่งคล้ายกับมีลมมาพัด ทั้งๆที่บรรยากาศรอบข้างนิ่งสนิท นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกแต่ชาวบ้านนั้นเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จลงมารับรู้แล้วจริงๆ

พระบฎ

กราบพระบฎ


ศาลไหว้

วิถีชีวิตที่ผูกกับพิธีกรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

พิธีกรรมเลี้ยงดงนั้นเคยถูกต่อต้านเพราะมองว่าการใช้ควายเป็นเครื่องสังเวยนั้นเข้าข่ายในเรื่องของการทรมาณสัตว์ เลยทำให้พิธีกรรมนี้ถูกยกเลิกไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่แล้วชาวบ้านก็ต่างเรียกร้องให้มีพิธีเลี้ยงดงกลับมา เพราะต่างมีความเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีนี้แล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวาย ภัยพิบัติ ฝนแล้ง จนสุดท้ายแล้วพิธีกรรมเลี้ยงดงก็ถูกนำกลับมาอีกครั้ง อีกทั้งพิธีกรรมเลี้ยงดงยังคงเป็นกุศโลบายในการรักษาผืนป่า ภูเขาและธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่นั้นล้วนเป็นต้นน้ำให้คงอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า

พ่อครู

พิธีกรรม

อีกทั้งพิธีกรรมการเลี้ยงดงนั้นยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของการทำเกษตรของคนในพื้นที่ เพราะพิธีกรรมนี้จะทำก่อนที่ชาวนาจะเริ่มต้นฤดูกาลทำนา โดยจะให้ควายที่นำมาทำพิธีกรรมนั้นเป็นเครื่องทำนายหากปีนั้นควายหันหน้าที่ทางซ้ายทำนายว่าน้ำจะเยอะ ชาวนาจะทำข้าวได้อย่างอุดมสมบูรณ์แต่หากปีนั้นควายหันหน้าไปทางขวา แปลว่าน้ำจะแล้ง พืชผลทางการเกษตรจะไม่ค่อยได้ผลดีมากนัก

ช้างฟ้อน

ขบวนแห่พระบฎ

ในปีนี้พิธีกรรมเลี้ยงดงหรือเลี้ยงปู่แสะย่าแสะนั้นได้จัดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ซึ่งได้รับการสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อและประเพณีที่สืบทอดผ่านผู้คนทั้งคนในพื้นที่ โดยในอดีตนั้นพิธีกรรมเลี้ยงดงถูกจัดขึ้นมาอย่างเงียบๆ และยังไม่ได้รับความสนใจจากคนภายนอกเท่าไหร่ แต่เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ที่แพร่หลายของสื่อมากขึ้น เลยทำให้ดึงดูดผู้คนที่สนใจเข้าชมพิธีจำนวนมาก ใครที่ไม่เคยเห็นก็จะกลายเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและตื่นตาตื่นใจขึ้นมาทันที จนสุดท้ายกลายเป็นจุดขายและส่วนหนึ่งคือการโปรโมทการท่องเที่ยวพื้นที่แม่เหียะไปในตัว

เลี้ยงดง

คนดู

แม้ว่าเวลาที่ผ่านไปและโลกที่เปลี่ยนไปอาจจะทำให้พิธีกรรมเลี้ยงดงหรือเลี้ยงปู่แสะย่าแสะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงเพื่อให้พิธีกรรมนี้ยังคงอยู่คู่ผืนแผ่นดินล้านนาต่อไป อีกทั้งยังมีคนรุ่นใหม่ที่อยากรู้ถึงความเป็นมา อยากเห็นพิธีกรรมจริงๆให้ความสนใจเข้ามาดู สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายการันตีที่ดี ว่าพิธีกรรมโบราณที่ถูกสืบทอดมานั้น จะยังได้รับความสนใจและคงอยู่ต่อไปแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม แต่ทุกอย่างล้วนมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง ตราบใดที่พิธีกรรมเลี้ยงดงยังคงมีการจัดขึ้นในทุกๆปี คนในยุคสมัยนี้ก็มีหน้าที่บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่พิธีกรรม ศาสนา เข้ามามีส่วนในการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคหนึ่งก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

ปู่แสะ


ส่วนใครที่ได้เข้าร่วมชมพิธีกรรมเลี้ยงดงแล้วอยากหาที่เที่ยวต่อ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่นั่งชิลๆ หรือจะร้านอาหารย่านวัดอุโมงกับ แจกพิกัดที่เที่ยวที่กินซอยวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ซอยที่รวมของกินที่เที่ยวไว้เยอะแยะ หรือจะไปย่านวัวลายหากยังไม่รู้จะไปที่ไหนแนะนำเลยกับ ที่กินที่เที่ยวย่านวัวลาย เชียงใหม่ ย่านเก่าแก่ที่มีของกินที่เที่ยว รับรองเลยว่าจะได้เที่ยวแบบครบทุกอารมณ์อย่างแน่นอน

Review by: